วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2558

ปัญหาที่พบบ่อย

ปัญหาสุขภาพที่ทารกเบบี๋พบบ่อย 


              ปัญหาสุขภาพของเด็กๆ ที่พบบ่อยในช่วง 3 เดือนแรกของชีวิต มักเป็นปัญหาจากการปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม จากในท้องแม่มาสู่โลกภายนอก รวมไปถึงความสามารถในการปรับตัวของคุณพ่อคุณแม่ต่อการเลี้ยงดูลูกๆ โดยเฉพาะในลูกคนแรก

              ความเป็นจริงแล้ว ปัญหาต่างๆ ของเด็กในช่วงนี้มักหายไปได้เองเมื่อโตขึ้น และเมื่อร่างกายของเขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอกได้ ความเข้าใจภาวะดังกล่าวจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่คลายความกังวล และรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างเหมาะสม ไม่ตื่นตระหนกเกินควร แต่ยังสามารถเฝ้าระวังภาวะอันตรายซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ยังช่วยให้ช่วยสังเกตได้ว่า อาการแสดงลักษณะใดควรพาลูกไปพบคุณหมอ เพื่อให้การวินิจฉัยและช่วยเหลือเป้นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
ดังนั้น ก่อนอื่นขึ้นพ่อแม่มือใหม่จึงควรรู้และเข้าใจก่อนว่า ปัญหาสุขภาพของลูกเบบี๋ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้รับมือต่อไปได้

1. ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด
ทารกแรกเกิดช่วงเดือนแรกของชีวิตจำนวนหนึ่งมีโอกาสตัวเหลืองตาเหลืองได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงตามปกติ ด้วยความที่เม็ดเลือดแดงของทารกแรกเกิดมีอายุสั้นกว่าเม็ดเลือดแดงของเด็กโตและผู้ใหญ่ ทำให้เกิดการสร้างสารสีเหลืองขึ้นในร่างกายจากการแตกของเม็ดเลือด
นอกจากนี้ในเด็กที่กินนมแม่ก็อาจมีอาการตัวเหลืองได้มากและนานกว่าปกติ ซึ่งสามารถพบได้ 2 ช่วงครับ ช่วงแรกอาจพบได้ในช่วง 2-3 วันแรก อีกช่วงจะเป็นหลังหนึ่งสัปดาห์ไปแล้ว อาการเหลืองจากนมแม่นั้นไม่มีอันตราย ถึงแม้ว่าอาจจะดูเหลืองมากและเหลืองนาน บางคนเหลืองเป็นเดือนๆ

การดูแลรักษา : สำหรับตัวเหลืองจากนมแม่โดยทั่วไปไม่ต้องให้การรักษาอะไร ส่วนตัวเหลืองที่เกิดจากสาเหตุอื่น คุณหมอต้องหาสาเหตุและให้การรักษาที่สาเหตุนั้น อาจร่วมกับการส่องไฟ เพื่อเพิ่มการขับสารเหลืองออกจากร่างกาย หรือบางรายหากมีอาการรุนแรงอาจต้องร่วมกับการเปลี่ยนถ่ายโลหิต ซึ่งรายที่มีอาการรุนแรงจนต้องเปลี่ยนถ่ายโลหิตพบได้น้อย

2.หายใจเสียงดัง
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ คงเคยสังเกตว่า ลูกนอนหายใจเสียงดังเหมือนแมวกรน หรือเหมือนมีเสมหะในลำคอ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการพัฒนาของอวัยวะในส่วนทางเดินลมหายใจยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่
เช่น หลอดลม ซึ่งโดยทั่วไปจะมีกระดูกอ่อนคอยประคองไม่ให้เนื้อของหลอดลมตกลงไปด้านหลังจนขัดขวางทางเดินหายใจ เมื่อเด็กๆ นอนหงายยังพัฒนาได้ไม่ดี หรือในเด็กเล็กๆ บางคนเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ด้านหน้าของทางเดินหายใจยังไม่แข็งแรง ร่วมกับต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งชื่อว่า ต่อมอะดีนอยด์ที่อยู่ในบริเวณนั้นตกลงไปขัดขวางทางเดินลมหายใจเวลานอนหงาย ทำให้เด็กๆ หายใจแล้วมีเสียงดัง

การดูแลรักษา : โดยทั่วไปไม่ต้องให้การรักษาอะไร เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตว่า อาการหายใจเสียงดังทำให้รบกวนต่อการได้รับอากาศและออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายหรือไม่ เช่น มีริมฝีปากเขียวคล้ำ เล็บเขียวคล้ำ หรือรบกวนการนอนจนลูกนอนไม่ได้ เพราะเมื่อเด็กๆโตขึ้นกระดูกอ่อน และเนื้อเยื่อด้านหน้าหลอดลมจะแข็งแรงขึ้น ประกอบกับต่อมอะดีนอยด์ก็มักเล็กลง หากอายุเกิน 5 เดือนไปแล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็ควรพาน้องไปปรึกษาคุณหมอ

3.แหวะนม
อาการแหวะนมหรืออาเจียนในเด็กเล็กเป็นปัญหาของการกินที่พบบ่อย และมักพบอาการหลังกินนม สาเหตุของอาการแหวะนมหรืออาเจียนเกิดจากการให้นมที่ไม่ถูกวิธีครับ ตั้งแต่ท่าการให้นมลูกที่ไม่เหมาะสม ทำให้เด็กดูดลมลงไปพร้อมกับนม พอกินนมเสร็จลมจะถูกดันขึ้นมาอยู่ด้านบน หากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ช่วยเคาะหลัง เพื่อไล่ลมออกหลังกินนม ก็ทำให้มีโอกาสที่ลมจะดันนมย้อนออกมาทางปากได้ง่ายขึ้น
การให้นมลูกในปริมาณมากเกินกว่าที่กระเพาะของเด็กจะรับได้ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งครับ เพราะหูรูดกระเพาะอาหารของเด็กหลายคนยังไม่ค่อยแข็งแรง และจะพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ จนทำงานได้ดีขึ้นเมื่ออายุประมาณ 4-5 เดือน

การดูแลรักษา : การให้นมที่ถูกต้องทั้งปริมาณและท่าให้นม จะช่วยลดอาการแหวะนมได้มากครับ นอกจากนี้การไล่ลมให้ลูกหลังกินนม จัดท่าของลูกให้อยู่ในท่าหัวสูงอย่างน้อย 30 นาที ก่อนให้ลูกนอนลง ก็จะช่วยลดอาการแหวะนมได้ครับ หากลูกยังมีอาการที่อยู่ๆ อาเจียนพุ่ง หรือมีอาการอื่นที่บ่งบอกว่าอาจมีอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ดูในล้อมกรอบอาการติดเชื้อในเด็กเล็ก) ก็ต้องรีบไปพาน้องไปพบคุณหมอ

4.โคลิก
โคลิกเป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะช่วงอายุน้อยกว่า 3 เดือน สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นจากลำไส้ของเด็กไวต่อการถูกกระตุ้นมากกว่าปกติ พบได้บ่อยในเด็กที่กินนมผสม เด็กที่กินแม่ก็พบได้แต่น้อยกว่าครับ เด็กมักแสดงอาการด้วยการร้องเสียงดังจนหน้าดำหน้าแดง มีอาการเกร็งและบิดของแขนและขา อาการร้องจะเป็นเวลาเดิมของทุกวัน

การดูแลรักษา : หากมีอาการมากจนรบกวนกับชีวิตประจำวัน หรือรบกวนคนอื่นในครอบครัว คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปหาคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอสั่งยาป้องกันการเกิดโคลิกให้ได้ครับ แต่อาการโคลิกจะหายไปได้เองเมื่อเด็กโตขึ้น โดยทั่วไปหลังจาก 3-5 เดือนไปแล้ว

5.ถ่ายบ่อย
ในเด็กที่กินนมแม่อาจมีอาการถ่ายบ่อย เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารที่ช่วยในการขับถ่ายครับ เด็กๆ หลายคนกินนมเสร็จก็ถ่ายทุกที คุณแม่สังเกตได้อย่างนี้ครับ หากถ่ายไม่เป็นน้ำ ไม่มีมูกเลือด ไม่มีอาการเหม็นเน่า ลักษณะอุจจาระมีกากดี ก้นไม่แดง และเด็กๆ ก็สดชื่นดี ไม่ต้องกังวล

การดูแลรักษา : หากเป็นการถ่ายบ่อยจากการกินนมแม่ และไม่มีภาวะผิดปกติอื่น ไม่จำเป็นต้องให้การรักษาครับ แต่หากมีความผิดปกติคุณหมอจะให้การรักษาที่แตกต่างกันตามสาเหตุ

6.อาการตัวร้อน
อาการตัวร้อนในเด็กเล็กพบได้บ่อยมากครับ ส่วนใหญ่เกิดจากการห่มผ้าให้กับลูกมากเกินไปเนื่องจากมีกังวลกลัวว่าลูกจะหนาว บางคนห่มผ้าให้ลูกผืนเดียวก็จริงแต่พับถึง 12 ทบก็เคยเจอนะครับ โดยทั่วไปเด็กทารกแรกเกิดที่ไม่ต้องอยู่ในตู้อบสามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้เหมือนผู้ใหญ่ วิธีดูง่ายๆ คือ หากคุณแม่หนาวคุณลูกก็หนาว หากคุณแม่ร้อนคุณลูกก็ร้อน พิจารณาง่ายๆ ก็คือห่มผ้าให้ลูกตามที่คุณแม่รู้สึก
การดูแลรักษา : หากไม่มีไข้จากการติดเชื้อหรือความเจ็บป่วยอื่น การห่มผ้าอย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้อาการตัวร้อนลดลงได้ครับ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตอาการร่วมอื่นๆ ให้ดีนะครับว่า มีอาการอะไรที่ต้องพาลูกไปพบคุณหมอหรือไม่ครับ

7.ผื่นผิวหนัง
ผื่นผิวหนังจำนวนมากในทารกแรกเกิดโดยเฉพาะในช่วง 7 วันแรกมักหายไปได้เองครับ ไม่ว่าจะเป็นผดผื่น สิวของทารก ตุ่มขาวบริเวณหน้าผาก แก้มและปลายจมูก หรืออาการกลากน้ำนมตามข้างแก้ม และหนังศีรษะแห้งลอกเป็นแผ่น อาการที่ต้องพาไปพบคุณหมอคือ การพบตุ่มหนอง ไม่ว่าจะบริเวณใดๆ ของร่างกาย เพราะตุ่มหนองนี้บ่งบอกถึงอาการติดเชื้อทางผิวหนัง

การดูแลรักษา : รักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังด้วยการเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายของเด็กๆ อย่างเหมาะสม ใช้เบบี้ออยล์หยดลงไปในน้ำอาบให้กับลูกสัก 2-3 หยดเวลาอาบน้ำ หลังอาบน้ำใช้เบบี้โลชั่นทางบางๆ ก็ช่วยได้มากแล้วครับ หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ หรือลุกลามเร็วมาก ควรพาไปพบคุณหมอ

              อาการต่างๆ ที่เล่ามาล้วนเป็นภาวะอาการที่พบได้บ่อยในคลินิกกุมารเวชกรรม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่มักกังวล ทั้งที่อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่หายไปได้เอง เพียงแต่มีความเข้าใจและรับมือได้อย่างเหมาะสม สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตอาการที่อาจเกิดจากความเจ็บป่วยที่รุนแรงเช่น การติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือการติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมองเพื่อให้สามารถพาเด็กๆ ไปพบคุณหมอและรักษาอย่างทันท่วงทีครับ
การติดเชื้อในเด็กเล็ก
นอกจากอาการของเด็กเล็กที่พบบ่อยๆ และได้กล่าวไปแล้วนั้น ภาวะสุขภาพที่กุมารแพทย์เป็นห่วง และต้องมองหาทุกครั้งสำหรับอาการเจ็บป่วยของเด็กเล็ก 3 เดือนแรกนั้น คือการติดเชื้อที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อในกระแสโลหิต หรือการติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง
การติดเชื้อในกระแสโลหิตสำหรับเด็กเล็กๆ จะมีอาการได้หลากหลายมากเลยครับ ตั้งแต่อาการเจ็บป่วยทั่วไป เช่น มีไข้สูง ตัวเย็น ซึมลง ดูดนมน้อยลง ท้องอืด ท้องเสีย อาเจียน สีผิวเปลี่ยนแปลง ตัวลาย หายใจหอบหรือเร็ว ร้องงอแง ไปจนถึงอาการที่ดูรุนแรงจากทั้งการติดเชื้อในกระแสโลหิตอย่างเดียว หรือการติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมองร่วมด้วย อย่างอาการชัก หรือหมดสติ
อาการต่างๆ เหล่านี้เป็นอาการที่พบไม่บ่อย คุณพ่อคุณแม่อย่าได้กังวลแต่เมื่อลูกไม่สบายก็ต้องเฝ้าสังเกตอาการ และหากพบก็ต้องรีบพาไปพบคุณหมอทันที


โดย: นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์

หัวหน้าหน่วยพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล

1 ความคิดเห็น: